วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมัยใหม่





ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ 
ซอฟท์แวร์ / คอมพิวเตอร์สำหรับงานก่อสร้าง
ปัจจัยหลักที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ได้ มีอยู่ 2 ปัจจัย คือ อสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น เนื่องจากมีปริมาณเม็ดเงินจำนวนมาก และอุตสาหกรรมการก่อสร้างก็มีความสัมพันธ์กันโดยตรงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นสินค้า (Product) ที่จะให้อสังหาริมทรัพย์นำไปขาย และหากมีการพิจารณาถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้พบว่า หากมีการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว จะทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นได้ทั้งระบบอย่างยั่งยืนและถาวร
และความจริงยังกลับพบว่าปริมาณการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในอุตสาหกรรมการก่อสร้างทั่วโลกและในประเทศไทยนั้น มีอยู่ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณเม็ดเงินในระบบอุตสาหกรรมนี้ อันเนื่องมาจากความรู้ด้านการก่อสร้างนั้นมีความสลับซับซ้อนมาก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ และมีลักษณะการทำงานที่ผันแปรไปตามปัจจัยต่างๆของโครงการ อันเนื่องมาจาก สภาพภูมิประเทศ สถาปัตยกรรมท้องถิ่น รสนิยมของผู้อยู่อาศัย วัสดุ วิชาชีพหลายมิติ เช่น สถาปนิก วิศวกร บัญชี เป็นต้น กฎหมาย มาตรฐานการออกแบบ (Design Code) มาตรฐานการก่อสร้าง ความชำนาญของช่างและผู้ออกแบบ ซึ่งทำให้การก่อสร้างนั้นเป็นงานเฉพาะตัว (Custom Made) ในแต่ละโครงการ จึงทำให้พบว่าส่วนใหญ่การก่อสร้างในประเทศไทยยังถือว่ายังล้าหลังจากประเทศอื่นอยู่มากและหากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆในประเทศไทยเองก็ยังพบว่ามีปริมาณค่อนข้างน้อย หรือ แทบจะเรียกว่าส่วนใหญ่ยังคงทำงานด้วยคน (manual) หรือเป็นกระดาษกันอยู่เลย
ซึ่งมาทำเป็นกราฟเปรียบเทียบถึงต้นทุนการทำงานด้วยคนและคอมพิวเตอร์จะทำให้เราพบว่า ต้นทุนการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์มีต้นทุนที่ลดลงทุกๆปีและต้นทุนการทำงานด้วยคนกลับมีต้นทุนที่สูงขึ้นตลอดเวลาทุกปี และปัจจุบันเราได้เลยจุดคุ้มทุนมาแล้ว หากเราไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อลดต้นทุนการทำงาน จะทำให้เรามีพื้นที่การเสียเปรียบกับคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดจะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจนี้ได้
การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำงานจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (Productivity) และขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ในคราวเดียวกัน หากทุกคนเข้าใจหลักการนี้แล้วจะทำให้ตระหนักว่า การใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยทำงานในธุรกิจก่อสร้างนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีปริมาณเม็ดเงินจำนวนมาก ทำให้สามารถประหยัดเงินได้ทันที
หากเริ่มพูดถึงคอมพิวเตอร์ด้านก่อสร้างแล้ว ผมเองก็เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจะรู้จักโปรแกรมประเภท CAD(Computer Aided Design) ที่เอาไว้ช่วยสำหรับการเขียนแบบ ซึ่งระบบ CAD ก็มีการวิวัฒนาการพอแยกได้เป็น 3 ยุค ดังนี้
ยุคแรก การเขียนแบบด้วยมือลงบนกระดาษ ซึ่งมีข้อจำกัดมากไม่สะดวกในการปรับปรุงแบบ ซึ่งเป็นการเขียนแบบ 2 มิติ คือ เป็นรูปด้าน รูปตัด แปลนอาคาร
- ยุคที่สอง เขียนแบบด้วยโปรแกรม CAD ซึ่งยุคนี้เริ่มได้มาประมาณ 20 ปี แล้ว และปัจจุบันการทำงานเกือบ 100 % ในการเรียน การสอน การทำงานในวงการก่อสร้างไทยยังใช้ระบบนี้อยู่ ทำให้มีปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบอื่นๆ เนื่องจากเป็นแค่การเขียนแบบแต่อย่างเดียว และทำให้การทำงานขาดการเชื่อมต่อไปยังระบบอื่น ทำให้โปรแกรม CAD เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับพนักงานเขียนแบบอย่างเดียวเท่านั้น สำหรับผู้จัดการโครงการ เจ้าของโครงการ หรือ สถาปนิกเอง จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์เท่าที่ควร
- ยุคที่สาม จำลองการออกแบบอาคารบนคอมพิวเตอร์ (Building Simulation) ทำให้สถาปนิกสามารถมองเห็นอาคารเสมือนจริงบนคอมพิวเตอร์ขณะออกแบบ ซึ่งทุกวัตถุ ( Object ) บนระบบคอมพิวเตอร์จะมีราคา สี คุณสมบัติวัสดุ เหมือนจริง ทำให้ทราบราคาค่าก่อสร้างทั้งอาคารได้ทุกขณะ ลดการทำงานผิดพลาดลง สามารถใช้โมเดลไปให้วิศวกรออกแบบโครงสร้าง ไฟฟ้า ประปา ได้ทันที โดยไม่ต้องสร้างโมเดลใหม่ให้เสียเวลา ลดการซ้ำซ้อนทั้งระบบ สะดวกในการนำเสนองานและการแก้ไขแบบอาคาร หากมีการแก้ไขขยายขนาดห้องจาก 4.00 ม. เป็น 4.50 ม. ที่รูปใดรูปหนึ่ง จะทำให้รูปทั้งหมด ทั้งรูปแปลน รูปด้าน รูปตัด รูปขยาย จะปรับปรุงแบบให้ใหม่ทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการแก้ไขแบบใหม่เป็นแรมเดือนอีกต่อไป
และในยุคที่สามของ CAD นี้ ได้มีการกำหนดมาตรฐานการทำงานบนระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโปรแกรมต่างๆ ซึ่งเรียกว่า IFC ( Industrial Foundation Class ) ปัจจุบันมีผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชั้นนำของโลกได้เข้าร่วมพัฒนาและเป็นสมาชิก เช่น Graphisoft, Microsoft, Autodesk, Bentley เป็นต้น โดยการใช้เทคโนโลยี XML เป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนไฟล์กัน และยังทำให้โปรแกรม CAD ออกแบบสถาปัตยกรรม ประมาณราคา วิศวกรโครงสร้าง บริหารโครงการ บริหารทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งระบบบัญชี สามารถเชื่อมโยงและคุยกันได้เป็นอย่างดี
โดยการเชื่อมโยงรูปแบบ IFC นี้จะเป็นการเชื่อมโยงได้ทั้งแบบ (Drawing) และข้อมูลประกอบ(Attribute) จากรูปแบบเดิมที่สามารถแลกเปลี่ยนได้แค่ Drawing ระหว่างโปรแกรมโดยใช้ไฟล์ DXF (Data Exchange Format) เป็นตัวกลาง
- ไฟล์แบบก่อสร้างรุ่นใหม่สามารถเก็บรูปแบบแปลนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบเบื้องต้นจนถึงแบบก่อสร้างจริง (As- Build Drawing) ได้ในไฟล์เดียว โดยสามารถแยกแบบได้เป็นชุดๆ ซึ่งจากเดิมจะต้องเก็บไฟล์หลายสิบหลายร้อยไฟล์ ทำให้ยากในการค้นหา และเรียกใช้งานภายหลัง
การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่รองรับระบบ IFC ทำให้ผู้ใช้งานทั้ง สถาปนิก วิศวกร เจ้าของโครงการ ที่ปรึกษาโครงการ สามารถทำงานได้สะดวกรวดเร็ว ลดการทำงานผิดพลาด สามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้ทั้งระบบตั้งแต่การออกแบบ ประมาณราคา การก่อสร้าง การติดตั้ง การโฆษณาประชาสัมพันธ์
โดยตอนถัดๆไปผมจะอธิบายถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ สำหรับช่วยงานสถาปัตยกรรม วิศวกรรม การก่อสร้าง (Construction) การบริหารโครงการ (Project Management) การบริหารอาคาร (Facilities Management) ที่ช่วยทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง ลดต้นทุน และทำงานได้รวดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น